วัดพระธรรมกายโตเกียว

Wat Phra Dhammakaya Tokyo
宗教法人タイ国タンマガーイ寺院
ที่ตั้ง 3-78-5 Arakawa, Arakawa-ku, Tokyo 116-0002 JAPAN
การติดต่อ เบอร์โทร : ๐๓-๕๖๐๔-๓๐๒๑
แฟกซ์ : ๐๓-๕๖๐๔-๓๐๒๒
อีเมล : dhammakaya.tokyo@gmail.com
เว็บไซต์ : www.dhammakaya.jp
ความเป็นมา
วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ วัดพระธรรมกายได้ส่งพระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ ไปศึกษาต่อด้านพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นเป็นพระภิกษุไทยเพียงรูปเดียวในประเทศญี่ปุ่น และยังไม่มีวัดไทยในประเทศญี่ปุ่นอยู่เลย จึงพักที่หอพักนักศึกษานานาชาติโซชิกะยะของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งมีนักศึกษาจาก ๕๐ ประเทศ จำนวน ๓๐๐ กว่าคน รวมทั้งนักศึกษาชาวไทยซึ่งมาช่วยอุปัฏฐาก
ปีแรกในญี่ปุ่นยากลำบากมาก เพราะทางมหาวิทยาลัยให้เข้าเรียนหลักสูตรพระพุทธศาสนาและปรัชญาอินเดียเลย ต้องเรียนการอ่านคัมภีร์จีน ทิเบต สันสกฤต รวมทั้งบาลี โดยใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นสื่อการสอน ซึ่งในช่วงเริ่มต้นไม่รู้เรื่องเลยแม้แต่ ๑% ต้องอาศัยความวิริยอุตสาหะอย่างหนัก จึงสามารถสอบแข่งขันกับนักศึกษาชาวญี่ปุ่นของมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งเป็นหัวกะทิอันดับหนึ่งของประเทศ
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เมื่อทราบว่ามีพระภิกษุไทยมาจำพรรษาที่ญี่ปุ่น จึงได้มีสาธุชนชาวไทยราว ๓๐-๔๐ คน มารวมตัวกันสวดมนต์ นั่งสมาธิ ถวายสังฆทาน ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือนที่ห้องประชุมของหอพักโซชิกะยะ
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อสามารถใช้งานภาษาญี่ปุ่นได้ดีแล้ว พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ จึงได้ขอให้ศาสตราจารย์เอจิมะ ยะสุโนริ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ช่วยพาไปฝากกับท่านโคมิเนะ อิจิอิน เจ้าอาวาสวัดซัมโบจิ กรุงโตเกียว ซึ่งต่อมาภายหลังท่านได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชของประเทศญี่ปุ่นด้วย (มีวาระ ๒ ปี) โดยขอพักอยู่ที่วัดท่านเป็นเวลา ๑ ปี เพื่อเรียนรู้ถึงวัฒนธรรม ความคิด ความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นและพระญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นต่อไป โดยยังคงรวมสาธุชนบำเพ็ญบุญทุกวันอาทิตย์ต้นเดือนอย่างต่อเนื่อง
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและศึกษาต่อปริญญาเอก การเรียนลงตัวในระดับหนึ่งแล้ว พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ จึงได้จัดประชุมสาธุชนชาวไทยที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้สร้างวัดไทยในญี่ปุ่นขึ้น
ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อหาสถานที่เหมาะสมได้ที่เขตอะคะบะเนะ เป็นอาคารเช่า ๒ ชั้นเล็ก ๆ ชั้นล่างใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรม ชั้นบนเป็นที่พักสงฆ์ ๔ รูป และอุบาสก ๒ คน เมื่อปรับปรุงสถานที่เสร็จจึงได้ทำพิธีเปิดวัดในเดือนพฤษภาคม ใช้ชื่อว่าศูนย์ปฏิบัติธรรมโตเกียว มีสาธุชนมาร่วมงานถึง ๑๐๕ คน
ในวันเข้าพรรษามีสาธุชนมาร่วมงานถึง ๑๕๐ คน ทุกคนจึงเห็นพ้องกันว่า จำเป็นต้องหาสถานที่ใหม่ที่กว้างขวางขึ้น จึงได้ย้ายไปที่ตึกคาเนะโกะ ห่างจากที่เดิมราว ๘๐๐ เมตร มีพื้นที่ใหญ่ขึ้นราว ๕ เท่า และได้ตามคณะพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ทยอยเดินทางมาช่วยงานเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบันราว ๑๐๐ รูป/คน โดยทุกท่านเรียนภาษาญี่ปุ่น และเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโท-เอก ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
จากการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจังจึงมีสาธุชนมาวัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ วันงานบุญใหญ่ เช่น พิธีทอดกฐิน ต้องไปขอใช้หอประชุมของทางเทศบาล
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รวบรวมทุนซื้อที่ดินและอาคาร ๖ ชั้น เพื่อปรับปรุงสร้างเป็นวัดถาวรในพระพุทธศาสนา มีพื้นที่ราว ๑,๒๐๐ ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่เขตอาระคาวะ ซึ่งอยู่กลางมหานครโตเกียวติดริมถนนใหญ่ อยู่ห่างจากสถานีรถไฟ JR เพียง ๓๐๐ เมตร สถานีรถไฟสายเคเซ ๔๐๐ เมตร และสถานีรถไฟใต้ดิน ๘๐๐ เมตร ญาติโยมเดินทางมาบำเพ็ญบุญได้สะดวก
เมื่อปรับปรุงอาคารเสร็จ จึงได้ย้ายมาที่วัดใหม่ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ตั้งเป็นวัดพระธรรมกายโตเกียว และดำเนินการจดทะเบียนเป็นองค์กรศาสนาตามกฎหมายญี่ปุ่นอย่างถูกต้องทุกประการจนสำเร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ นอกจากนี้ได้ซื้อบ้านเดี่ยว ๓ ชั้น ในละแวกใกล้เคียงกับวัดเพื่อเป็นที่พักของอุบาสิกา
เมื่อการสร้างวัดพระธรรมกายโตเกียวสำเร็จลงด้วยดี สาธุชนในพื้นที่ต่าง ๆ ก็เรียกร้องให้สร้างวัดในพื้นที่ของตนบ้าง ทางวัดพระธรรมกายโตเกียวจึงได้จัดส่งพระภิกษุและอุบาสก อุบาสิกาไปสร้างวัดพระธรรมกายโอซาก้า วัดพระธรรมกายนางาโน่ และวัดอื่น ๆ ตามลำดับ จนมีอยู่ ๑๒ แห่ง ทั่วประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งทุกแห่งล้วนมีที่ดินอาคารสถานที่เป็นของตนเองแล้ว และเป็นองค์กรศาสนาถูกต้องตามกฎหมายญี่ปุ่น
พระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หรือ ปริญญาเอกแล้ว ส่วนหนึ่งก็อยู่ช่วยงานเผยแผ่ที่ญี่ปุ่นต่อไป อีกส่วนหนึ่งก็เดินทางกลับมาประเทศไทยช่วยงานพระพุทธศาสนาเป็นอาจารย์และผู้บริหารการศึกษาเพื่อสร้างพระภิกษุนักเผยแผ่ต่างประเทศรุ่นใหม่ต่อไป
ปัจจุบันมีพระสงฆ์ปฏิบัติศาสนกิจจำนวน ๖ รูป
อุบาสก จำนวน ๒ คน
อุบาสิกา จำนวน ๑๐ คน
(อุบาสก อุบาสิกา คือ ผู้รักษาศีล ๘ พักอาศัยในพื้นที่วัด ช่วยงานวัดเต็มเวลา)
ประวัติเจ้าอาวาส

พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
อายุ ๖๐ ปี พรรษา ๓๗
สถานะเดิม นายแพทย์สมชาย วัชรศรีโรจน์
แพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยรุ่นที่ ๓๕
เกิดเมื่อ วันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๔
บรรพชาอุปสมบท เมื่อวันวิสาขบูชาที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๘
ที่วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี
พระอุปัชฌาย์ คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
(ขณะเป็นที่พระธรรมธีรราชมหามุนี)
พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระอธิการไชยบูลย์ ธมฺมชโย
พระอนุสาวนาจารย์ คือ พระเผด็จ ทตฺตชีโว
การศึกษา
พ.ศ.๒๕๒๘ แพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ.๒๕๓๐ สอบได้นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ.๒๕๓๘ สำเร็จการศึกษาปริญญาโท พุทธศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ.๒๕๔๕ สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ.๒๕๔๖ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ตำแหน่งการปกครอง
พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายโตเกียว
พ.ศ.๒๕๔๑ เป็นผู้อำนวยการศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI
จ.พระนครศรีอยุธยา (เดิมตั้งอยู่ในวัดพระธรรมกาย ย้ายมาที่อยุธยาฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙)
พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นประธานสงฆ์ศูนย์การศึกษาเขาแก้วเสด็จ
จ.ปราจีนบุรี
พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี
สมณศักดิ์
พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ ในพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ปัจจุบันเป็นที่พระพรหมวชิรปัญญาจารย์) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
กิจกรรมของวัด
๑. ทำวัตรเช้า-เย็น
๒. เจริญสมาธิภาวนา
๓. จัดพิธีบำเพ็ญบุญแก่ญาติโยมในวันพระและวันอาทิตย์ มีการสวด มนต์นั่งสมาธิ อาราธนาศีล ถวายสังฆทาน ฟังพระธรรมเทศนา เป็นต้น
๔. จัดบวชอุบาสิกาแก้ว รักษาศีล ๘
๕. บรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
๖. อุปสมบทแก่ชาวไทยและชาวญี่ปุ่น
๗. จัดพิมพ์หนังสือและสื่อธรรมะในภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น
๘. เยี่ยมเยียนสร้างสายสัมพันธ์กับองค์กรพุทธในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งคณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ
วัดพระธรรมกายโตเกียว

การศึกษาที่มหาวิทยาลัยโตเกียว


ญาติโยมมาบำเพ็ญบุญที่ห้องประชุมหอพักโซชิกะยะ


ถวายพระพรและปฏิสันถารกับเจ้าชายฟุมิฮิโตะ มกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นคนปัจจุบันและเจ้าหญิงคิโกะพระชายาที่เสด็จเยือนหอพักนักศึกษานานาชาติโซชิกะยะ เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕


ประกอบพิธีกรรมสงฆ์ในงานเทศกาลสงกรานต์ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จัดโดยสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น มีชาวไทยมาร่วมงานจำนวนมาก


บรรยายธรรมแก่นักเรียนประถมศึกษาญี่ปุ่น (พ.ศ. ๒๕๓๔)


พิธีทอดกฐิน





บิณฑบาต

พิธีตามเทศกาลวันสำคัญในพระพุทธศาสนา




พิธีอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทชาวญี่ปุ่นที่วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย

ธรรมทายาทหญิงชาวญี่ปุ่น ร่วมพิธีเวียนประทักษิณ ในการอุปสมบทหมู่พระธรรมทายาทชาวญี่ปุ่น

กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น

งานบุญอุปสมบทชาวญี่ปุ่น
